สำหรับอาการของโรคสมองฝ่อ จะเริ่มต้นจากการลืมเหตุการณ์ที่เพิ่งจะเกิดขึ้น อาการต่อมาจะเกี่ยวข้องกับสมองในด้านการรับรู้ การเข้าใจ และการมีเหตุผล ทำให้ผู้ที่เป็นจะเริ่มขาดความสนใจในเหตุการณ์ หรือกิจกรรมรอบๆ ตัวเอง และถ้าเป็นมากขึ้น บุคลิกภาพของผู้สูงอายุนั้นจะสูญเสียไป ผู้สูงอายุบางรายอาจมีอาการเกร็งของกล้ามเนื้อแขนและขา ทำให้เคลื่อนไหวลำบาก
กรณีที่ผู้สูงอายุมีอาการไม่มากนักก็ไม่ควรไปวิตกกังวลมาก ยกเว้นว่าจะมีอาการผิดปกติอื่นร่วมด้วย เช่น เกิดความจำเสื่อม อาการหลงๆลืมๆ เชาวน์ปัญญาลดลง อารมณ์และพฤติกรรมเปลี่ยนแปลง ช่วยเหลือตนเองได้น้อยลงเหมือนถอยหลังกลับไปเป็นเด็ก อาการอาจเป็นมากจนถึงขั้นเป็นอัมพฤกษ์หรืออัมพาต อย่างนี้ถึงจะจัดว่าเป็นโรคทางสมอง
ส่วนด้านอาการ “ขี้หลงขี้ลืม” นั้นอาจไม่ใช่อาการผิดปกติทางสมอง ต้องแยกแยะให้ดี เพราะเกิดขึ้นกับคนแก่เกือบทุกคนหรือแม้แต่วัยทำงานส่วนใหญ่ก็มักขี้หลงขี้ลืมได้ ไม่ใช่อาการสมองฝ่อ แต่เป็นเรื่องปกติของคนที่มีเรื่องราวสะสมในหัวมาก ก็อาจมีอาการหลงลืมได้บ้างเป็นธรรมดา โดยเฉพาะคนแก่มักลืมเหตุการณ์ใหม่ๆ แต่กลับจำความหลังครั้งเก่าได้ดี ซึ่งอาการขี้ลืมนี้จะยังไม่มากถึงขั้น “หลงลืม ” จนทำให้คนอื่นผิดสังเกต เช่น กินข้าวแล้วแต่บอกว่ายังไม่ได้กิน สติปัญญาลดลงจนผิดสังเกต รวมทั้งมีอาการผิดปกติอื่นๆ ร่วมด้วย นี่ถึงรวมเป็นอาการของสมองฝ่อ
การพยากรณ์โรค
โดยปรกติการพยากรณ์โรคสมองฝ่อนั้น ขึ้นอยู่กับสาเหตุของโรคในผู้ป่วย กลุ่มที่เกิดจากโรคที่สามารถหาสาเหตุและรักษาได้ จะมีการพยากรณ์โรคดีกว่าแต่สำหรับกลุ่มผู้ป่วยที่เกิดจากโรคที่ไม่ทราบสาเหตุนั้นจะไม่สามารถรักษาให้หายได้ ในปัจจุบันมักจะมีการดำเนินต่อไปของโรคโดยแม้จะมีอาการของโรคลดลงเรื่อยๆ ด้วยการรักษาทางยานั้นเป็นเพียงการช่วยประทังอาการของโรคเท่านั้น เพราะฉะนั้นการรักษาตามอาการของโรคจะมีบทบาทสำคัญที่สุด การดูแลผู้ป่วย และยอมรับของญาติผู้ป่วย เป็นอีกปัจจัยที่มีส่วนอย่างมากในการพยากรณ์ของโรคในระยะยาว เนื่องจากผู้ป่วยกลุ่มนี้มักจะมีอายุยืนนานใกล้เคียงกับคนปกติทั่วไป ส่วนสาเหตุการสูญเสียชีวิตในผู้ป่วยภาวะสมองฝ่อนั้นมักจะเกิดจากภาวะโรคแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น การอักเสบของปอด การติดเชื้อ การติดเชื้อที่แผลนอนทับ ในทางเดินปัสสาวะ และโรคหลอดเลือดหัวใจ เป็นต้น