การวางแผนดูแลสุขภาพตนเองและบุคคลในครอบครัว เป็นเรื่องที่มีคุณค่าอย่างยิ่งเพราะนอกจากจะเป็นสิ่งที่ช่วยกระตุ้นให้ตัวของเราเองและบุคคลในครอบครัวเกิดความกระตือรือร้นในการดูแลสุขภาพแล้ว ยังเป็นสิ่งที่ช่วยให้เกิดสัมพันธภาพอันดีระหว่างสมาชิกทุกคนในครอบครัว เกิดความรักในครอบครัวซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ได้อย่างดี อันจะนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีในอนาคต
คุณค่าของการวางแผนดูแลสุขภาพของบุคคลในครอบครัว
คำว่า “สุขภาพดี” ในแต่ละคนนั้นอาจแตกต่างกันออกไปตามแต่สภาวะสังคม หรือรูปแบบของวิถีชีวิตที่แตกต่างกัน แต่โดยรวมแล้วสุขภาพดีอย่างน้อยจะต้องหมายถึง ความสมบูรณ์ของทั้งร่างกายและจิตใจ ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นนี้จะเกิดได้เนื่องจากการดูแลเอาใจใส่ระบบต่างๆ ที่สำคัญของร่างกาย
การที่จะมีสุขภาพดีได้นั้น ไม่ว่าจะเป็นสุขภาพของตนเองหรือของบุคคลในครอบครัว ไม่ใช่เป็นสิ่งเกิดขึ้นได้ด้วยความบังเอิญ
หากแต่จำเป็นที่จะต้องมีการวางแผนในการดูแลสุขภาพล่วงหน้าซึ่งจะช่วยให้เกิดผลดี ดังนี้
-สามารถที่จะกำหนดวิธีการหรือเลือกรูปแบบที่เหมาะสมกับการดำเนินชีวิตของตัวเราเองหรือบุคคลในครอบครัวได้อย่างเหมาะสม
-สามารถที่จะกำหนดช่วงเวลาในการดูแลสุขภาพได้อย่างเหมาะสม อาจจะมีกิจกรรมการออกกำลังกายในช่วงเช้า หรือในบางครอบครัวอาจจะมีเวลาว่างในช่วงเย็น
ก็อาจจะกำหนดกิจกรรมการส่งเสริมสุขภาพในช่วงเย็นก็ได้ หรืออาจจะกำหนดช่วงเวลาในการตรวจสุขภาพประจำปีของบุคคลในครอบครัวได้อย่างเหมาะสม
-เป็นการเฝ้าระวังสุขภาพทั้งของตนเองและบุคคลในครอบครัว ไม่ให้ป่วยด้วยโรคต่างๆ นับว่าเป็นการสร้างสุขภาพ ซึ่งจะดีกว่าการที่จะต้องมาซ่อมสุขภาพ หรือการรักษาพยาบาลในภายหลัง
-ช่วยในการวางแผนเรื่องของเศรษฐกิจและการเงินในครอบครัว เนื่องจากไม่ต้องใช้จ่ายเงินไปในการรักษาพยาบาล
-ส่งเสริมสุขภาพทั้งของตนเองและบุคคลในครอบครัว
-ทำให้คุณภาพชีวิตทั้งของตนเองและสมาชิกในครอบครัวดีขึ้น
การดูแลสุขภาพครอบครัว
ครอบครัวเป็นสังคมเล็กๆ สังคมหนึ่ง มีสมาชิกเพียงแค่พ่อ แม่ ลูก หรือเป็นสังคมของกลุ่มญาติอันประกอบด้วยบิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยาย ลูก ซึ่งสมาชิกในครอบครัวจะมีบทบาทหน้าที่ต่างกัน แต่ทุกคนต้องมีความห่วงใย มีความรัก เอื้ออาทรซึ่งกันและกัน ให้ความช่วยเหลือดูแลกันเป็นอย่างดี โดยเฉพาะด้านการดูแลสุขภาพ แต่ละคนมีหน้าที่ดูแลสุขภาพตนเองให้แข็งแรง ซึ่งเมื่อทุกคนต่างก็ดูแลสุขภาพตนเองไม่ให้เจ็บไข้แล้ว สุขภาพส่วนรวมหรือสุขภาพของครอบครัวก็จะแข็งแรงสมบูรณ์ตามไปด้วย ถ้าเป็นเช่นนี้ ครอบครัวย่อมจะมีแต่ความสุข ทั้งนี้ครอบครัวจะขยายใหญ่ขึ้นได้ต้องดำเนินการตามแนวทาง ดังนี้
๑ สนับสนุนและเอื้ออำนวยให้สมาชิกใหม่เกิดและมีชีวิตอยู่รอดได้
๒ ป้องกันและคุ้มครองให้มีการเจริญเติบโตจากวัยเด็กสู่วัยผู้ใหญ่อย่างราบรื่น
๓ ส่งเสริมสมาชิกของครอบครัวแต่ละคนให้อยู่ร่วมกันอย่างสามัคคี
๔ ช่วยกันดูแลสุขภาพทางร่างกายจิตใจ อารมณ์